คำกล่าวอ้าง

โวหารภาพพจน์
โวหารภาพพจน์ คือ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ เกิดความประทับใจ เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
ลักษณะของโวหารภาพพจน์ ได้แก่ อุปมา อุปลักษณ์ ปฏิพากย์ อติพจน์ บุคลาธิษฐาน สัญลักษณ์ นามนัย สัทพจน์ ซึ่งโวหารแต่ละชนิดจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน

อุปมา
อุปมา คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “เหมือน” เช่น ดุจ ดั่ง ราว ราวกับ เปรียบ ประดุจ เฉก เล่ห์ ปาน ประหนึ่ง เพียง เพี้ยง พ่าง ปูน ฯลฯ
แต่ควรสังเกตเพิ่มเติมด้วยไม่ใช่เห็นคำเหล่านี้แล้วรีบตัดสินว่าเป็นอุปมา ต้องสังเกตดูด้วยว่ามีความเปรียบหรือไม่ ถ้ามีความเปรียบแสดงว่าเป็นอุปมา
ตัวอย่างเช่น
ปัญญาประดุจดังอาวุธ ไพเรากังวานปานเสียงนกร้อง
ท่าทางหล่อนราวกับนางพญา จมูกเหมือนลูกชมพู่

ทนต์แดงดั่งแสงทับทิม เพริศพริ้มเพรารับกับขนง
(อิเหนา)

ใช่นางเกิดในปทุมา สุริยวงศ์พงศานั้นหาไม่
จะมาช่วงชิงกันดังผลไม้ อันจะได้นางไปอย่าสงกา
(อิเหนา)

อุปลักษณ์
อุปลักษณ์ คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับอุปมาคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน มีวิธีสังเกต ๒ วิธีได้แก่
๑. มีคำว่า “คือ” “เป็น” และมีนัยเชิงเปรียบเทียบ เช่น เธอคือนางฟ้าในใจ
๒. ละคำว่า “คือ” “เป็น” เช่น ทะเลดาว, เพชรน้ำค้าง

ตัวอย่างเช่น
เธอคือดอกฟ้าแต่ฉันนั้นคือหมาวัด
ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

ถึงห้วยโป่งเห็นธารละหานไหล คงคาใสปลาว่ายคล้ายคล้ายเห็น
มีกรวดแก้วแพรวพรายรายกระเด็น บ้างแลเห็นเป็นสีบุษราคัม
(นิราศเมืองแกลง)

บางครั้งภาพพจน์แบบอุปลักษณ์ไม่มีคำกริยา “คือ” และ “เป็น” ให้สังเกต เราจะต้องตีความเอาเอง เช่น
ก้มเกล้าเคารพอภิวาท พระปิ่นภพภูวนาถนาถา
ยับยั้งคอยฟังพระวาจา จะบัญชาให้ยกโยธี
(อิเหนา)
ในที่นี้ เปรียบพระมหากษัตริย์เป็นปิ่นของแผ่นดิน

ความเหมือนกันระหว่างอุปมาและอุปลักษณ์ คือ …………………………………………………………………………….
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

ปฏิพากย์
ปฏิพากย์ คือ การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าวอย่างกลมกลืนเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น
น้ำผึ้งขม เลวบริสุทธิ์
สวยเป็นบ้า ยิ่งรีบยิ่งช้า
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร
เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

อติพจน์ หรือ อธิพจน์
อติพจน์ คือ การเปรียบเทียบโดยการกล่าวข้อความที่เกินจริง มักเปรียบเทียบในเรื่องปริมาณว่ามีมากเหลือเกิน มีเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น
คิดถึงใจจะขาด ร้อนตับแตก
คอแห้งเป็นผง หนาวกระดูกจะหลุด
การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า คิดถึงเธอทุกลมหายใจเข้าออก

นี่ฤาบุตรีพระดาบส งามหมดหาใครจะเปรียบได้
อนิจจาบิดาท่านแสร้งใช้ มารดต้นไม้พรวนดิน
ดูผิวสินวลละอองอ่อน มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น
สองเนตรงามกว่ามฤคิน นางนี้เป็นปิ่นโลกา
(ศกุนตลา)

ตราบขุนคิริขัน ขาดสลาย ลงแม่
รักบ่หายตราบหาย หกฟ้า
สุริยจันทรขจาย จากโลก ไปฤา
ไฟแล่นล้างสี่หล้า ห่อนล้างอาลัย
(นิราศนรินทร์)
*ในกรณีที่ใช้โวหารต่ำกว่าจริง เรียกว่า อวพจน์
ตัวอย่างเช่น
เล็กเท่าขี้ตาแมว รอสักอึดใจเดียว เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว

สังเกตง่ายๆ อติพจน์ คือ ……………………………………………………………………………………………………………….
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………

บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต
การสมมุติสิ่งต่างๆ ให้มีกิริยาอาการ ความรู้สึกเหมือนมนุษย์
ตัวอย่างเช่น
พระจันทร์ยิ้ม มองซิ…มองทะเล เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน
ทะเลไม่เคยหลับใหลใครตอบได้ไหมไฉนจึงตื่น สายลมลูบไล้พฤกษาลดามาลย์
ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง
จากมามาลิ่วล้ำ ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง คล่าวน้ำตาคลอ
(จาก นิราศนรินทร์ นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน))
สัญลักษณ์
สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดนทั่วไป
ตัวอย่างเช่น
นกพิราบ แทน สันติภาพ เมฆหมอก แทน อุปสรรค
สีดำ แทน ความตาย ความชั่วร้าย สีขาว แทน ความบริสุทธิ์
หงส์ แทน คนชั้นสูง กา แทน คนต่ำต้อย
ลา แทน คนโง่ คนน่าสงสาร สุนัขจิ้งจอก แทน คนเจ้าเล่ห์ดอกไม้ แทน ผู้หญิง
นามนัย
นามนัย คือ การใช้คำหรือวลีที่บ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงความหมายแทน สิ่งนั้นทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น
หัวหงอก แทน คนเฒ่าคนแก่ หัวดำ แทน คนหนุ่มคนสาว
เมืองโอ่ง แทน จังหวัดราชบุรี เมืองย่าโม แทน จังหวัดนครราชสีมา
ทีมเสือเหลือง แทน ทีมมาเลเซีย ทีมสิงโตคำราม แทน ทีมอังกฤษ
ฉัตร แทน กษัตริย์ เก้าอี้ แทน ตำแหน่ง
สัทพจน์
สัทพจน์ หมายถึง ภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงดนตรี เสียงสัตว์ เสียงคลื่น เสียงลม เสียงฝนตก เสียงน้ำไหล ฯลฯ การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริงๆ
ตัวอย่างเช่น
ลูกหมาร้องบ๊อกๆ ลูกนกร้องจิ๊บๆ ลูกแมวร้องเหมียวๆ
ฟ้าร้องครืนๆ
เปรี้ยงๆ ดังเสียงฟ้าฟาด
คลื่นซัดครืนๆว่าที่ผาแดง
บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว
ตะแลกแต๊กแต๊กตะแลกแต๊กแต๊ก กระเดื่องดังแทรกสำรวลสรวลสันต์
ป๊ะโท่นป๊ะโท่นป๊ะโท่นโท่น

อุปมานิทัศน์

อุปมานิทัศน์ คือ การเปรียบเทียบโดยยกเรื่องราวหรือนิทานมาประกอบ ขยาย หรือแนะโดยนัยให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจ แนวความคิด หลักธรรม หรือความประพฤติที่สมควรได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เช่น
* นิทานเรื่อง คนตาบอดคลำช้าง เป็นอุปมานิทัศน์ชี้ให้เห็นว่า คนที่มีประสบการณ์ หรือภูมิหลังต่างกันย่อมมีความสามารถในการรับรู้ความเชื่อและทัศนคติต่างกัน
* โคลงโลกนิติบทที่ว่าด้วย หนูท้ารบราชสีห์ เป็นอุปมานิทัศน์ แสดงให้เห็นว่า คนโง่หรือคนพาลที่ด้อยทั้งกำลังกายและกำลังปัญญาบังอาจขมขู่ท้าทายผู้มีกำลังเหนือว่าตนทุกด้านแต่ผู้ที่ถูกท้ากลับเห็นว่า ถ้าตนลดตัวลงไปเกี่ยวข้องด้วยเท่ากับเอาพิมเสนไปแลกเกลือ จึงหลีกเลี่ยงเสีย ปล่อยให้คนโง่ซึ่งมีความอหังการนั้นพ่ายแพ้แก่ตนเอง

โวหารภาพพจน์

แบบฝึกเรื่องโวหารภาพพจน์

มาตรฐาน

แบบฝึกเรื่องโวหารภาพพจน์

คำชี้แจง  ให้นักเรียนพิจารณาข้อความที่กำหนดให้ว่ามีการใช้ภาพพจน์ชนิดใด

อุปมา                     อุปลักษณ์                              ปฏิพากย์                                อติพจน์                 อวพจน์

บุคลาธิษฐาน        สัทพจน์                                 สัญลักษณ์                             นามนัย

๑. ให้อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา    อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง            ……………………………………………………………..

๒. น้ำค้างหยดลงเผาะๆ    …………………………………………………………….

๓. ตอนหล่อนเป็นไฟ  ฉันก็กลายเป็นน้ำ     ………………………………………………………….

๔. คอยสักอึดใจเดียวประเดี๋ยวก็จะมาถึง        …………………………………………………………..

๕. ความสุขที่แสนจะเจ็บปวด          …………………………………………………………………

๖. เมื่อฟ้าหลั่งน้ำตา    หมู่เมฆาพาหัวร่อ      ………………………………………………………………..

๗. ราชสีห์            ………………………………………………………

๘. เปรี้ยงๆ ดังเสียงฟ้าฟาด               …………………………………………

๙. อินทรีเหล็ก     ………………………………………………..

๑๐. เธอคือนางแมวป่า       ………………………………………………..

๑๑. สุนัขจิ้งจอก                  ……………………………………………….

๑๒. น้ำร้อนปลาเป็น  น้ำเย็นปลาตาย            ……………………………………………………

๑๓. มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน            …………………………………………………

๑๔. ที่นาหายใจคล้ายคนร่อแร่จวนจะตาย     ……………………………………………………….

๑๕. ดีอย่างร้ายกาจ             ……………………………………………….

๑๖. ท่าทางหล่อนราวกับนางพญา                  ………………………………………………………………..

๑๗. ฉันหิวจนจะกินช้างได้ทั้งตัวแล้ว            ………………………………………………………………………..

๑๘.        เพียนทองงามดั่งทอง                         ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย

กระแหแหห่างชาย                                   ดั่งสายสวาทคลาดจากสม

……………………………………………………………………………….

๑๙.        ลมหนาวเริ่มล่องมาจากฟ้าแล้ว        พรมจูบแผ่วเจ้าพระยาโรยฟ้าฝัน

……………………………………………………………………………….

๒๐.        แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ          พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา

……………………………………………………………………………………

๒๑.        แอดออดออดแอดแอดออด                ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่

………………………………………………………………………………………

๒๒.      ครืนครืนใช่ฟ้าร้อง                              เรียมครวญ

…………………………………………………………………………………….

๒๓.       คือน้ำผึ้งคือน้ำตาคือยาพิษ คือหยาดน้ำอมฤตอันชุ่มชื่น

คือเกสรดอกไม้คือไฟรุม                         คือความกลุ้มคือความฝันนั่นแหละรัก

……………………………………………………………………………………..

๒๔.       กาลวงว่าหงส์ให้ปลงใจ                     ด้วยมิได้ดูหงอนแต่ก่อนมา

……………………………………………………………………………………….

๒๕.       เสร็จเสวยสวรรเยศอ้าง                       ไอศูรย์    สรวงฤา

เย็นพระยศปูนเดือน                              เด่นฟ้า

เกษมสุขส่องสมบูรณ์                            บานทวีป

สว่างทุกข์ทุกธเรศหล้า                          แหล่งล้วนสรรเสริญ

………………………………………………………………………………………….